
นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือบุคคลทั่วไป ควรต้องรู้เรื่องการห้ามโอน ห้ามใช้ ห้ามยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมไปถึงอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกกันว่าของหลวง ของหลวงนั้นก็คงจะหมายถึงทรัพย์สินของแผ่นดินนั่นเอง ซึ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นประเภทใดได้บ้าง
ทรัพย์สินทั้งหมด จะเป็นของแผ่นดินส่วนหนึ่ง เป็นของเอกชนอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะทรัพย์สินของแผ่นดินยังจะแบ่งออกเป็นทรัพย์สินธรรมดาและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะมีทรัพย์ใดบ้างที่เป็นของแต่ละประเภทดังกล่าว
ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา ส่วนใหญ่แล้วเป็นทรัพย์สินทั่วไปของรัฐ เช่น เป็นที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบ หรือจะเป็นทรัพย์สินใดก็ตามที่ตกเป็นของรัฐ
สาธารณาสมบัติของแผ่นดิน ส่วนมากใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น
1.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน แยกอธิบายได้ดังนี้
– ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คือ ที่ดินซึ่งเอกชนยังไม่เคยได้เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
– ที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน คือ ที่ดินเอกชนเวนคืนแก่รัฐ
– ดินทอดทิ้ง คือ ที่ดินเอกชนทอดทิ้งและไม่ทำประโยชน์
– ที่ดินซึ่งกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น คือ ที่ดินที่กลับมาเป็นของแผ่นดินโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
2.ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ แยกอธิบายได้ดังนี้
– ที่ชายตลิ่ง คือ ที่ดินอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล โดยฤดูน้ำจะท่วมถึงทุกปี
– ทางน้ำ คือ คู ลำคลอง แม่น้ำที่คนใช้สัญจร
– ทางหลวง คือ ทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะ
3.ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเรือน เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ แล้วยังรวมไปถึง สถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ราชพัสดุที่ใช้สำหรับปลูกสร้างอาคาร หรือที่ดินในเขตป่าสงวน
ทรัพย์สินและสาธารณาสมบัติของแผ่นดิน มีการห้ามไว้ตามกฎหมายแยกอธิบายได้ดังนี้
1.ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะโอนแก่กันมิได้ แม้ว่าจะมีการซื้อที่ดินสาธารณโดยสุจริตในการขายทอดตลาดก็ตาม หรือถ้านำไปให้เช่า ไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วจะฟ้องในเรื่องการบุกรุกก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช้ผู้เสียหาย แต่รัฐสามารถดำเนินคดีได้ แต่มีข้อยกเว้นโดยต้องอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
2.ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น จะเข้าครอบครองใช้อายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐนั้นไม่ได้ จะเอาอายุความได้ภาระจำยอมก็ไม่ได้ หรือแม้แต่การใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินมานานแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
3.ห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ นั่นหมายความว่า ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา หรือทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะยึดไม่ได้ เรื่องทรัพย์สินและสาธารณาสมบัติของแผ่นดิน กฎหมายที่ออกมาห้ามอะไรไว้ต้องศึกษาให้ดีก่อน บทความนี้จะทำให้ท่านเข้าใจและแยกประเภทได้ถูกต้อง รวมไปถึงข้อห้ามต่าง ๆ ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้