
กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าใครได้กรรมสิทธิ์แล้วจะมีสิทธิ์ขาดในที่ดินผืนนั้น ซึ่งสิทธิในที่ดินมีอยู่ 2 ประเภท คือ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง แต่กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในการแสดงความเป็นเจ้าของสมบรูณ์ที่สุด
กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีการได้มาหลายทางด้วยกัน ในอดีตอาจจะได้ที่ดินมาก่อนการใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน การได้มาจากโฉนด ตราจอง ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน เป็นการได้มาด้วยการขอออกโฉนด และก็ยังมีกฎหมายแพ่งและพาญิชย์บัญญัติว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินนั้น ท่านว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดิน ต่อจากนั้นยังมีการได้ที่ดินโดยการจัดสรรของรัฐอีกด้วย
การได้กรรมสิทธิ์มาโดยนิติกรรมมีมากมายในยุคปัจจุบัน เพราะผู้คนมีการโอนที่ดินด้วยการซื้อขาย การจำนอง หรือแม้กระทั่งการขายฝาก อาจจะเป็นสัญญาก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย และสัญญาอื่น ๆ ซึ่งการทำสัญญาต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น ๆ เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน ก็ต้องทำตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการซื้อขายกำหนดแบบไว้ คือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำสัญญาตามแบบ ผลก็คือสัญญาเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาในแบบอื่น ๆ ก็ต้องไปดูกฎหมายว่าด้วยการนั้นกำหนดไว้อย่างไร
การได้กรรมสิทธิ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบ เพราะว่าเป็นเรื่องของกฎหมายที่ซับซ้อนอยู่มาก ซึ่งยากแก่การเข้าใจและเป็นปัญหาให้เจ้าของที่ดินจำนวนมาก โดยท่านอาจจะได้มาหรือเสียสิทธิ์ในที่ดิน นั่นก็คือการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมาย
การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมายมีดังนี้
โดยอาศัยหลักส่วนควบ ซึ่งตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาญิชย์ มาตรา 144 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า เจ้าของทรัพย์ ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น จึงทำให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เป็นเจ้าของส่วนควบนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะเป็นเจ้าของส่วนควบมาก่อน ถ้าเป็นส่วนควบของทรัพย์ใดแล้ว ส่วนควบนั้นจะตกแก่เจ้าของทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ประธาน อย่างเช่น ที่งอกริมตริ่ง เกาะและทางน้ำตื้นเขิน การสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่น การสร้างโรงเรือนรุกล้ำ การปลูกไม้หรือธัญชาติในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งบางกรณีอาจต้องมีการชดใช้เงินกันบางส่วนเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยจะขออธิบายแต่ละเรื่องในบทความต่อไป
การครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่น้อย และทำให้เสียที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังไว้ให้มาก โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
การได้มาโดยทางมรดก ก็ต้องไปดูกฎหมายมรดก ซึ่งคำว่ามรดกตามกกฎหมาย หมายถึงทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ และความรับผิดซึ่งเป็นของผู้ตายอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ที่ดินก็คือทรัพย์สินที่ได้มาทางมรดกนั่นเอง
ท่านคงจะเห็นแล้วว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินได้มาหลายทางด้วยกัน ซึ่งแต่ละเหตุผลของการได้มามีกฎหมายรองรับไว้ โดยต้องไปดูรายละเอียดแต่ละกรณีว่าเป็นเช่นไร ทั้งนี้ก็เพื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินของท่าน